Monday, March 23, 2009

บทบาทและหน้าที่ของ CIO

ท่านคงรู้จักคำว่า CEO กันเป็นอย่างดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่า CEO หรือ นายก CEO แต่บางท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับอีกหลาย C_O ไม่ว่าจะเป็น CEO COO หรือ CIO เหล่านี้ เป็นที่รู้จักกันดีในการจัดองค์กรของหน่วยงานในภาคเอกชนของประเทศไทยมานานแล้ว แต่เพิ่งนำมากล่าวถึงกันในการจัดองค์กรของหน่วยงานของรัฐเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากผู้เขียนเกี่ยวข้องกับงานทางด้านการจัดการสารสนเทศจึงขอกล่าวถึงเฉพาะบทบาทของ CIO ในองค์กร ซึ่ง CIO ก็ย่อมาจาก Chief Information Officer นั่นเอง
แนวคิดการจัดตั้งผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง CIO (Chief Information Officer)
ริเริ่มโดย นายสุวิทย์ คุณกิตติ ขณะที่เป็นประธานคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ
มุ่งหวังให้ CIO เป็นผู้
- กำหนดนโยบายด้านข่าวสารในหน่วยงาน
- สนับสนุนและเร่งรัดการจัดทำแผนแม่บทระบบข่าวสาร
- สนับสนุนการจัดหา และบริหารการใช้ทรัพยากร
- สนับสนุนและส่งเสริมการมีการใช้ระบบข่าวสารอย่างต่อเนื่อง
- กระทรวง/กรม/รัฐวิสาหกิจ/ส่วนราชการได้แต่งตั้งรองหัวหน้าส่วนราชการ 1 คน เพื่อทำหน้าที่เป็น CIO ของส่วนราชการ
- กระทรวงมหาดไทย ได้อนุมัติแผนการพัฒนาและการบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของจังหวัด โดยได้แต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด 1 คน ปฏิบัติหน้าที่เป็น CIO ระดับจังหวัด เพื่อกำหนดแนวทาง กำกับ ดูแล และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของจังหวัดให้เป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในโลกยุค IT ปัจจุบันนั้น การจัดการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหน่วยงานตลอดจนองค์กรนั้น เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญทั้งต่อสาธารณะและต่อองค์กรเอง ทำอย่างไรหน่วยงานเทคโนโลยีสารสนเทศจึงจะทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ รวมถึงสามารถให้บริการลูกค้าได้ดี ทั้งองค์กรในภาครัฐและเอกชนต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ขับเคลื่อนทิศทางขององค์กร แม้กระทั่งในประเทศสหรัฐเมริกามีกฎหมายที่กำหนดว่า หน่วยงานของรัฐจะต้องมี CIO และ CIO นี้ต้องเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มผู้บริหารระดับสูง
CIO นั้นเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กร ซึ่งหมายรวมถึง มาตรฐาน กฎเกณฑ์ โครงสร้าง งบประมาณ กระบวนการให้ความรู้ บุคลากร ของหน่วยงานสารสนเทศ โดย CIO เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ CEO เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาทั้งความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งทั้งภายในและภายนอกเพื่อทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้ โดยสร้างความเชื่อถือให้กับหน่วยงาน IT (Information Technology: เทคโนโลยีสารสนเทศ) เป็นผู้วางแผนทั้งในระดับแผนกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการ รวมถึงงบประมาณด้าน IT เพื่อพัฒนา ให้ความรู้ และปฏิบัติการ เกี่ยวกับทรัพยากรสารสนเทศ ซึ่งรวมถึงการสื่อสารโทรคมนาคมทั้งข้อมูลและเสียง โดยเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศทุกคนรายงานตรงต่อ CIO
บทบาทและหน้าที่ความรับผิดขอบของ CIO แบ่งเป็นประเด็นหลัก ๆ ได้ดังนี้
ในด้านความสัมพันธ์ CIO ต้องพัฒนาทั้งความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งทั้งภายในและภายนอก โดยต้องสร้างความเชื่อถือให้กับหน่วยงาน IT โดยเข้าร่วมเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บริหารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในฐานะที่เป็นผู้กำหนดภารกิจ เข้าร่วมในการกำหนดแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ สร้างเครือข่ายกับหน่วยงานเทคโนโลยีสารสนเทศภายนอกองค์กรเพื่อแลกเปลี่ยนสารสนเทศ ส่งเสริมและปรับปรุงทั้งขบวนการปฏิบัติงานทั้งภายในหน่วยงานและกับภายนอกหน่วยงาน ติดต่อเพื่อรับความคิดเห็นด้านบริการจากลูกค้าเพื่อปรับปรุงการใช้ IT เป็นตัวแทนของหน่วยปฏิบัติการ IT ในการประชุม และตอบสนองความต้องการขององค์กรในด้านสารสนเทศในการสร้างความคิดริเริ่มในด้าน IT
ในด้านเทคโนโลยี CIO ต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์และการเปลี่ยนแปลงขององค์กร โดยต้องสร้างพื้นฐานของหน่วยปฏิบัติการ IT เพื่อให้บริการ ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) และระบบงานทางด้าน IT เนื่องจากความสามารถของหน่วยงาน IT ขึ้นอยู่กับ โครงสร้างพื้นฐานนี้ ซึ่งรวมถึง สถาปัตยกรรมระบบเครือข่ายที่ใช้ ดังนั้น CIO จึงมีหน้าที่ออกแบบ โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร โดยต้องกำหนดมาตรฐานของระบบเครือข่าย เพื่อให้ก่อให้เกิดสารสนเทศที่เป็นระบบ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาและบำรุงรักษาระบบและสถาปัตยกรรมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐ และส่งเสริมนโยบายและวัตถุประสงค์ขององค์กร พัฒนา บำรุงรักษา และเผยแพร่แผนกลยุทธ์ให้หน่วยงานรับทราบ ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์การลงทุน และการประเมินศักยภาพของผลที่ได้รับจากการลงทุนด้าน IT ร่วมกับผู้บริหารระดับสูง สร้างและดูแลรักษามาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้และเป็นเป็นอย่างคุ้มค่า ดำเนินงาน IT ตามงบประมาณที่ได้ โดยจัดลำดับตามความต้องการตามเป้าหมายกลยุทธ์ ตลอดจนวัดผลกิจกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ในด้านทรัพยากรสารสนเทศนั้น CIO ต้องกำหนดทรัพยากรที่สนับสนุนแผนกลยุทธ์ IT โดยใช้ทรัพยากรตามแผนกลยุทธ์ที่กำหนด คาดการณ์การจัดหาการบริการด้าน IT ที่เพียงพอ ซึ่งรวมถึงระบบงานสารสนเทศ การจัดจ้างองค์กรภายนอกเพื่อพัฒนาระบบงาน (outsource) การจัดการระบบเครือข่าย หน่วยงานให้ความช่วยเหลือ หน่วยงานสนับสนุนการปฏิบัติการ การสนับสนุนด้านการสื่อสารโทรคมนาคม การจัดการทรัพยากรทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ และความปลอดภัยของข้อมูล วางแผนการฝึกอบรมที่จำเป็นให้กับบุคลกรในหน่วยงานตามแผนกลยุทธ์ทั้งตามเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว และแผนดังกล่าวควรมีการปรับปรุงให้เหมาะสม ส่งเสริมให้มีกระบวนการด้าน IT ที่ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และมีคุณภาพ เจ้าหน้าที่ IT ต้องรายงานตรงต่อ CIO
คุณสมบัติของ CIO จากหน้าที่ความรับผิดขอบของ CIO ที่กล่าวมาข้างต้น เราจะเห็นว่า CIO ต้องเป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีพื้นฐานทางด้านการบริหารจัดการและด้านเทคโนโลยี CIO ต้องเป็นทั้งผู้สร้างและผู้เปลี่ยนแปลงองค์กรแม้ในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน และยังต้องมีความรู้ด้านเทคนิคที่จำเป็นในการสร้างความพึงพอใจตามความต้องการด้านระบบสารสนเทศขององค์กร รวมถึงมีความชำนาญในด้านการบริหารจัดการเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และสร้างแผนงาน
London Business School ได้ศึกษาวิจัยและกำหนด 7 ปัจจัยในความสำเร็จของ CIOs ตามลำดับต่อไปนี้ คือ มีความเฉียบแหลม ความน่าเชื่อถือ การสร้างวิสัยทัศน์ด้าน IT การวางแผน ความสามารถและประสบการณ์ด้านสร้างความสัมพันธ์ด้าน IT กับหน่วยงานอื่นทั้งภายในและภายนอกองค์กร นอกจากนั้นแล้ว กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกายังกำหนดว่าตำแหน่ง CIO ต้องมีความชำนาญและประสบการณ์ ทั้งในด้านธุรกิจขององค์กรตลอดจนด้านเทคนิค มีการติดต่อสื่อสารที่ดี มีความหลักแหลมเกี่ยวกับการเมืองภายในองค์กร เป็นผู้วางแผนกลยุทธ์ มีประสบการณ์ในหลากหลายองค์กร และเคยมีประสบการณ์ในการเป็น CIO หรือ CEO มาก่อน โดยสรุปแล้ว CIO ควรมีคุณสมบัติดังหัวข้อต่อไปนี้
ความสามารถในด้านการจัดการ CIO ต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการ โดยมีวิสัยทัศน์และสามารถแปลงวิสัยทัศน์ให้เป็นแผนกลยุทธ์ เพื่อให้บรรลุภารกิจขององค์กร มีการสร้างงานเพื่อสนับสนุนหน่วยงานหลักขององค์กร สร้างความเชื่อถือให้กับหน่วยงาน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานอื่น มีความสามารถที่จะกระตุ้นและพัฒนาทีมงานที่เข้มแข็งโดยเพิ่มประสิทธิผล ผลผลิต คุณภาพ และศักยภาพ สามารถที่จะโน้มน้าวความคิดเห็น ตลอดจนมีความสามารถในการวิเคราะห์ความเสี่ยง นอกจากนั้นแล้ว ยังต้องมีรู้ในกระบวนการจัดการงบประมาณ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การวางแผนทรัพย์สิน และการกำหนดและดูแลการวัดประสิทธิภาพของระบบ
ความสามารถในด้านเทคนิคในด้านเทคนิคนั้น CIO ต้องมีประสบการณ์ในการนำ IT มาช่วยหน่วยงานองค์กรให้บรรลุภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมีความสามารถที่จะพัฒนากรอบโครงสร้างของ IT พัฒนาตัวชี้วัดเพื่อติดตามและประเมินผลการบรรลุวัตถุประสงค์และผลตอบแทนจากการลงทุน(return on investment) มีประสบการณ์ในระบบและเทคโนโลยีที่หลากหลาย การติดตั้งระบบควบคุมและกระบวนการตรวจสอบโปรแกรมด้าน IT มีความรู้อย่างกว้างขวางในทิศทางของเทคโนโลยีในอนาคตและการใช้เทคโนโลยีในภาครัฐ และการใช้ประโยชน์จากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีและโอกาสทางเทคโนโลยีนอกจากนั้นแล้ว CIO จะต้องส่งเสริมกระบวนการยกเครื่องด้าน IT พัฒนามาตรฐาน สร้างการบริการให้กับผู้ใช้ IT และสร้างแผนการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความชำนาญที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการบรรลุภารกิจ
ความสามารถในด้านผู้เชี่ยวชาญนอกจากความสามารถในการบริหารจัดการและเทคนิคแล้ว CIO ยังต้องเป็นผู้เชื่ยวชาญในการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาระบบเพื่อแก้ปัญหาขององค์กร โดยทั้งอธิบาย ให้คำแนะนำ และต่อรอง กับทั้งภายในและภายนอกองค์กร พัฒนาเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญกับองค์กรอื่นเพื่อความร่วมมือทางด้าน IT และยังต้องมีทักษะในการพูดและเขียนที่ดีเยี่ยม
หน่วยงานของรัฐในปัจจุบันนั้นก็จำเป็นต้องมี CIO เช่นกัน เนื่องจากรัฐต้องการผลักดันให้เกิด E-Government โดยรัฐบาลจะจัดตั้งศูนย์สารสนเทศของประเทศ (National Information Center: NIC) ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นต้องการสารสนเทศที่ได้จากกระทรวงและกรมต่าง ๆ โดยแบ่งสารสนเทศเพื่อการบริหารประเทศเป็นศูนย์ปฏิบัติการในระดับต่าง ๆ 3 ระดับคือ
- ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (Prime Minister Operation Center: PMOC)
- ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวง (Minister Operation Center: MOC)
- ศูนย์ปฏิบัติการกรม (Department Operation Center: DOC)
โดย CIO และ CEO ของหน่วยงานของรัฐในระดับกรมซึ่งรวมถึงสถาบันการศึกษาด้วย ก็เป็นองค์กรในระดับกรมที่จะต้องจัดตั้งและรับผิดชอบศูนย์ปฏิบัติการในระดับกรมเพื่อส่งข้อมูลให้กับศูนย์ปฏิบัติการในระดับกระทรวงต่อไป นอกจากนี้แล้ว ในพระราชกฤษฏีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 มาตรา 39 และ 40 ยังมีข้อความระบุว่า ส่วนราชการต้องจัดให้มีระบบเครือข่ายสารสนเทศของส่วนราชการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และจัดให้มีระบบเครือข่ายสารสนเทศกลางขึ้น เราจะเห็นว่า รัฐเองก็ได้เล็งเห็นถึงการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในการลดขั้นตอนการทำงานของหน่วยงานของรัฐรวมถึงให้บริการที่ดีกับประชาชน ดังนั้น CIO จึงมีภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบสูงขึ้นกว่าหัวหน้าศูนย์คอมพิวเตอร์ในอดีตมากทีเดียว
ผู้ที่เป็น CIO จะต้องให้ความสนใจอย่างจริงจัง ในเรื่อง
- การจัดทำแผนแม่บทไอทีที่สอดคล้องกับการปฏิรูประบบราชการ
- การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน
- การจัดบริการแก่ประชาชนที่ดี
- การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
โจทย์สำคัญของ CIO
- การใช้ไอทีเพิ่มผลผลิตขององค์กร
- การปรับไอทีให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การพัฒนาองค์กร/จังหวัด
- การใช้ไอทีปรับปรุงคุณภาพขององค์กร/สำนักงานจังหวัด
- การรื้อปรับระบบองค์กร
- การควบคุมค่าใช้จ่ายไอที
- การวางแผนกลยุทธ์/แผนแม่บทไอที
- การจัดทำระบบสารสนเทศที่เป็นเอกภาพ
- การติดตามการดำเนินงานตามแผนแม่บทไอที
- การติดตามเทคโนโลยีใหม่ให้ทัน
กลยุทธ์สำคัญที่ CIO สามารถใช้ได้
- การศึกษางานของหน่วยงานอื่นๆ
- การลดงานที่ไม่จำเป็น เพราะผู้อื่นทำอยู่แล้ว
- การปรับปรุงคุณภาพขององค์กรอย่างต่อเนื่อง
- การพบปะกับ CIO อื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์
- การติดตามเทคโนโลยีใหม่ให้ทัน
ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการแต่งตั้ง CIO และการจัดทำแผนแม่บทไอที
- CIO ส่วนใหญ่ไม่ได้จบการศึกษาด้านไอทีแต่เคยมีประสบการณ์ด้านการบริหารงานด้านไอที
- ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งสั้น เปลี่ยน CIO งานไม่ต่อเนื่อง
- ไม่มีนโยบายสนับสนุนความก้าวหน้า
- ถูกมองว่างานด้านไอทีเป็นงานฝากเท่านั้น
- ส่วนใหญ่ หน่วยงานจัดทำแผนแม่บทไอทีเอง แต่ขาดการประเมินผลการดำเนินการตามแผน
ข้อเสนอแนะจากการวิจัย
- แนวคิดของการแต่งตั้ง CIO ควรเน้นผลสัมฤทธิ์ หรือ Result-Based Management ในการทำงานของ CIO
- มีการจัดทำข้อตกลงผลงานของ CIO ที่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน
- ปรับปรุงกระบวนการแต่งตั้ง CIO ด้วยการคัดเลือกจากผู้ที่มีคุณสมบัติ/ประสบการณ์ที่กำหนด มีการแสดงวิสัยทัศน์ และเป้าหมาย ตัวชี้วัดการทำงานที่ชัดเจน โดยมีคณะกรรมการพิจารณาในการเลือกสรร CIO
- งานด้านไอทีต้องไม่เป็นงานฝาก โดย CIO ต้องรับผิดชอบด้าน IT เต็มที่ และผลักดัน เพื่อให้ได้ผลงานตามที่ได้ Commit ไว้
ปัญหาและความท้าท้ายที่ CIO ต้องเผชิญ
- การดำเนินธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง หรือ อาจต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อรองรับผลกระทบ การเปลี่ยนแปลงจากภายนอก เช่น การรวมองค์กร การเข้าควบคุมกิจการ การเป็นพันธมิตร การร่วมปันความเสี่ยง หรือการสร้างธุรกิจใหม่
- การปรับโครงสร้าง (restructuring) การลดขนาดองค์กร (downsizing) การปรับองค์กรภายในเพื่อให้การปฏิบัติงานมีความกระชับขึ้น
- ความจำเป็นที่ต้องจัดหาการสนับสนุนด้านระบบ สารสนเทศที่จะต้องมีความยืดหยุ่นต่อการนำไปใช้งานตลอดเวลา ภายใต้งบประมาณที่จำกัด รวมทั้งความคาดหวังจากคณะผู้บริหารระดับสูง และการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ
- การสร้างวิสัยทัศน์ เพื่อสร้างและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย
- การเปลี่ยนหน้าที่ของงานสารสนเทศจากการปฏิบัติงานรายวัน ไปสู่เป้าหมายการวางแผนระยะยาว
- CIO จะต้องมีความสามารถ และมีคุณสมบัติในการประยุกต์ทักษะและประสบการณ์ทางธุรกิจขององค์กรและการเงินเข้าไปด้วย นอกเหนือจากด้านเทคนิค
แนวทางการสนับสนุนและส่งเสริมการนำไอซีทีมาใช้ในหน่วยงาน
กำหนดทิศทางเพื่อการเข้าสู่การเป็น e-Government
ขั้นตอนที่ 1 จัดให้มี website สำหรับให้ข่าวสารอย่างต่อเนื่องและทันสมัยแก่เจ้าหน้าที่
ขั้นตอนที่ 2 จัดให้มีการส่งข้อมูลแบบ Online ใช้ระบบสื่อสารแบบโต้ตอบ เช่น ระบบ e-Mail ระบบจองห้องประชุม
ขั้นตอนที่ 3 จัดให้มีการโต้ตอบการติดต่อกับผู้ใช้เพื่อเข้าถึงข้อมูลในฐานข้อมูล
ขั้นตอนที่ 4 จัดให้มีการทำรายการตามคำขอ สามารถโอนย้ายรายการเกี่ยวกับการเงินได้
ขั้นตอนที่ 5 จัดให้มีการแลกเปลี่ยนรายการระหว่างหน่วยงานโดยอัตโนมัติ มีการเข้าถึงและตรวจสอบสิทธิการเข้าใช้บริการอย่างเป็นระบบ
วางแผนนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อก้าวสู่ความเป็นระบบงานอิเล็กทรอนิกส์
- เลือกเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์
- นำเทคโนโลยีที่เลือกมาใช้ในการพัฒนาระบบงานอย่างจริงจัง
- วิเคราะห์และวางแผนในด้าน Hardware และ Infrastructure เพื่อรองรับระบบงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต
- สร้างมาตรฐานข้อมูลเพื่อความพร้อมในการใช้ข้อมูลร่วมกัน เพื่อการพัฒนาโครงสร้างข้อมูลที่เป็นเอกภาพ
- เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร
- นำหน่วยงานเข้าสู่เข้าสู่ระบบงานอิเล็กทรอนิกส์
ขั้นตอนที่ 1 ทดลองและเรียนรู้
ขั้นตอนที่ 2 ทดลองและปรับใช้
ขั้นตอนที่ 3 ปรับเปลี่ยนและแปลงงานมาอยู่ในระบบงานอิเล็กทรอนิกส์
ขั้นตอนที่ 4 กระจายครอบคลุมและเชื่อมต่อ
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
- โครงสร้างพื้นฐาน ระบบเครือข่าย (Network) ทั่วถึง
- อุปกรณ์ การติดต่อสื่อสาร (Equipment) ราคาถูก ใช้ง่าย
- ระบบบริหารจัดการสารสนเทศร่วมภาครัฐมีความพร้อม(Government Gateway)
- กฎหมาย กฎ ระเบียบ
- บุคลากร ภาครัฐพร้อม
- ความตระหนัก การยอมรับ และ ความเชื่อมั่น ของประชาชน
- ภาครัฐได้รับการจัดสรร งบประมาณ อย่างเหมาะสม
- มี องค์กรกลาง พัฒนา และ ดูแลระบบ
- มี แผนแม่บท และ แผนปฏิบัติการ ชัดเจน
ทุกวันนี้ไอซีทีได้ถูกนำมาใช้เป็นตัวกำหนดธุรกิจว่า จะต้องเริ่มการพัฒนา หรือควรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ดังนั้น องค์กรจึงต้องการผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ต้องมองเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นทรัพย์สินขององค์กร พร้อมทั้งต้องหาวิธีการใหม่ ๆ ให้สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศนั้น เพื่อเพิ่มความได้เปรียบให้กับการดำเนินงานขององค์กร

เอกสารอ้างอิง
1. Sprague, R. H., & McNurlin, B. C. (1993). Information system management in practice (3rd ed.). New Jersey, US: Prentice-Hall.
2. Office of Rofer Baker. (1999). Guidance to operating units on CIO roles and responsibilities (report). US: Chief Information Officer, Department of Commerce.
3. พระราชกฤษฏีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 (2546).

2 comments:

Unknown said...

เป็นประโยชน์อย่างมากคับ ...

Pimsuda said...

ขอบคุณมากค่ะ ^^